วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รอยยิ้มในธุรกิจแตงโม ... ธุรกิจหัวใจสังคม


โดย : Give2all เมื่อ : 1/02/2007 05:19 PM

บรรยากาศสบายๆ ริมแม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเสื้อยืดสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์เนมที่คนไทยคุ้นเคยมานาน "แตงโม" ของบริษัท "สยามแฮนด์ส จำกัด" ไม่เฉพาะรอบนอกที่สดชื่นด้วยไอน้ำ ในตัวโรงงานยังเย็นสบายโดยไม่ต้องใช้แอร์คอนดิชั่น แต่ติดตั้งเพียงพัดลมระบายอากาศ และล้อมรอบด้วยกระจกใสโปร่งตา พนักงานหันหน้าเข้าหากันทำงานด้วยสีหน้าที่ไม่เคร่งเครียด แต่มีประสิทธิภาพ

"...ผมวางธุรกิจที่ทำเป็นกองทัพป้องกันประเทศในสงครามเสื้อผ้า ต่อสู้กับสินค้าราคาถูกจากจีน และสินค้าราคาแพงจากตะวันตก เป็นสินค้าไทยราคาไม่แพงแต่คุณภาพดี ไม่ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ... ...เรามีหอพักบริการคนงานเดือนละ 900 บาท เป็นค่าหอ 200 บาท ค่าอาหาร 700 บาท คือเขากินอิ่ม 3 มื้อ เงินเดือนที่เหลือสามารถส่งกลับบ้านได้หมด

โครงการแตงโมสมานฉันท์ รับเอาผู้หญิงบ้านบอเกาะที่นราธิวาสมาอบรมเย็บเสื้อผ้าในโรงงาน เดือนเดียวที่คนเหล่านี้กลับไปพวกเขาก็ตั้งโรงงานเย็บผ้าเล็กๆ ในหมู่บ้าน..."

นี่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการและกิจกรรมเพื่อสังคมของผู้บริหารบริษัทสยามแฮนด์ส คุณอดิศร และ คุณอมรา พวงชมภู กับการทำธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสังคม

จากใจที่งดงาม ผ่านมือที่ประณีต สู่สินค้าคุณภาพ เพื่อผู้ใช้ทั่วโลก

สโลแกนผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแตงโม กลั่นกรองมาจากแนวคิดและประสบการณ์การทำงานของผู้บริหาร คุณอดิศร - คุณอมรา พวงชมภู มาสู่วิถีทางธุรกิจที่เอาใจใส่พนักงาน ใส่ใจผู้บริโภค ดูแลสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม

ไม่เพียงโรงเย็บผ้าริมแม่น้ำที่ไม่ต้องอาศัยแอร์คอนดิชันให้สิ้นเปลือง พลังงาน สิ่งแวดล้อมโดยรอบยังสะอาดเป็นระเบียบต่างจากโรงงานหลายแห่ง ทั้งยังมีกฏเหล็กเพื่อสุขภาพในอาณาจักรแห่งนี้ คือ ห้ามพนักงานกินเหล้า สูบบุหรี่

"ผมเคยไล่ออกทีเดียว 60 คนเพียงรู้ว่าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่นี่เราไม่อนุญาตทั้งเหล้า บุหรี่ ตอนแรกก็มีการต่อต้านบอกว่าคนที่สูบบุหรี่เก่งๆ เยอะนะ ผมก็บอกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่แต่เก่งๆ ก็เยอะ มีบางคนมาผ่อนผันว่าขอเวลาเลิก 2 ปี ผมก็บอกว่าให้ออกไปเลิกข้างนอกก่อน เหตุผลง่ายๆ คือผมไม่สูบก็เลยไม่อยากได้กลิ่น..." คุณอดิศร บอกคุณสมบัติของคนงานสยามแฮนด์ส ซึ่งนอกจากจะห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิดแล้ว ยังต้องเป็นคนดีอีกด้วย ความเก่งไม่จำเป็น เพราะสามารถฝึกกันได้

"...ที่นี่เวลารับคนเข้าทำงานจะดูอยู่เรื่องเดียว คือ คนรักแม่ เพราะคนรักแม่มักจะไม่ทำชั่วและมีความรับผิดชอบ จากประสบการณ์ที่ผมเห็น คนเหล่านี้จะขยันทำงานและเก็บเงินส่งกลับบ้านหมด เราจะไม่เลือกคนเก่งคนคะแนนดี แต่เลือกคนนิสัยดีก่อน..."

ห่างออกไปไม่ไกลจากตัวโรงงาน ยังเป็นหอพักที่เจ้าของโรงงานสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนงาน เก็บเงินรายเดือนๆ ละเพียงคนละ 900 บาท จำนวนนี้เป็นค่าห้องพัก 200 บาท อีก 700 บาทเป็นค่าอาหารที่มีให้บริการครบ 3 มื้อ นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางแล้ว ที่สำคัญคือคนงานจะได้เหลือเงินเก็บส่งกลับบ้านไปจุนเจือครอบครัวได้เยอะๆ

นอกจากการดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลพนักงาน ความใส่ใจต่อผู้บริโภคก็เป็นประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งของผู้บริหารแตงโม โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้าที่ประณีต และขายในราคาที่ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

"...คนงานที่นี่ เวลาเย็บผ้าผมจะให้เขาคิดถึงอยู่เรื่องเดียว คือนึกถึงรอยยิ้มคนที่มีความสุขที่ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณภาพ จากฝีมือประณีตที่เราตั้งใจทำ"

เสื้อผ้าในชื่อแตงโมจะไม่ขึ้นวางขายในห้างสรรพสินค้า แต่เลือกตลาดกลางอย่างโบ๊เบ๊และประตูน้ำเป็นที่กระจายสินค้า..

"...ผมวางธุรกิจที่ผมทำเป็นกองทัพป้องกันประเทศในสงครามเสื้อผ้า ห้างระดับบนราคาแพงจะมีสินค้าของไทยสักกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดล่างก็มีสินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาด เหล่านี้ล้วนเป็นช่องทางที่เงินไหลออกนอกประเทศ ผมวางตลาดตัวเองที่โบ๊เบ๊และประตูน้ำ แต่เสื้อผ้าชนิดไหนที่ขายในห้าง ผมมีหมด..."

แตงโมสมานฉันท์ : ความรู้สึกดีๆ คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพ

ในบรรดาเสื้อเหลืองที่คนไทยร่วมกันใส่เพื่อแสดงออกถึงพลังแห่งความจงรักภักดีต่อในหลวง จำนวนหนึ่งนั้นคือฝีมืออันประณีต ความหวัง และความตั้งใจที่เต็มเปี่ยมของผู้หญิงมุสลิม เป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมของบริษัทสยามแฮนด์ส ที่นำผู้หญิงมุสลิมจากหมู่บ้านในพื้นที่สีแดง 3 จังหวัดชายแดนใต้มาฝึกอบรมเย็บเสื้อยืดในโรงงาน เพื่อกลับไปสร้างอาชีพเสริมในชุมชนของตน

เริ่มต้นจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่าง คุณอมรา พวงชมภู กับ พล.ต.พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาค 4 ผู้ดำเนินตามนโยบาย "เปลี่ยนอาวุธเป็นอาชีพ" ที่เกิดเป็น "โครงการแตงโม + กองทัพภาค 4 เพื่อพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้" โดยนำผลผลิตแตงโมไร้สารพิษที่ทหารได้เข้ามาสอนชาวบ้านปลูกในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี นำไปขายที่โรงงานแตงโม

"...ตอนจัดงานแตงโมแฟร์ ผมเอาผลผลิตแตงโมจากหมู่บ้านบอเกาะมาขายด้วย ครึ่งวันแรกขายไม่ค่อยได้ เพราะคนรู้สึกว่าแพง แต่พอคนรู้ว่ามาจากหมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลับขายดี เพราะคนซื้อเขารู้ว่ามันหมายถึงอะไร มันเป็นน้ำใจที่คนไทยให้กัน แม้จะไม่รู้จักกัน" คุณอดิศร ย้อนรอยให้ฟัง

จากนั้นก็เชื่อมโยงไปถึงแนวคิด "ทำเสื้อเพื่อให้เกิดสันติภาพ" ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากผลผลิตทางการเกษตร คือ โครงการแตงโมสมานฉันท์" โดยนำผู้หญิงมุสลิม บ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส จำนวน 11 คน ที่มีพื้นฐานการเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว มาฝึกเย็บเสื้อยืดคอปกตราครองราชย์ เป็นเวลา 1 เดือนที่โรงงานแตงโม

เมื่อพวกเธอกลับไปก็เกิดโรงงานเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โรงงานซึ่งเกิดได้จากเพื่อนชาวมุสลิมบริจาคที่ดิน สยามแฮนด์สสนับสนุนเครื่องมือและจักรเย็บผ้า กลุ่มเพื่อนนักธุรกิจของแตงโมบริจาควัสดุก่อสร้าง แรงงานก่อสร้างจากผู้ชายในหมู่บ้านที่กลางวันกรีดยางกลางคืนมาก่อสร้าง และทหารที่เข้ามาช่วยในเวลากลางวัน

"เดือนเดียวที่คนเหล่านี้กลับไป พวกเขาตั้งโรงงานเล็กๆ ในหมู่บ้าน มีคนบริจาคที่ดินให้ชาวบ้านเรี่ยไรเงินกันเอง และได้รับการบริจาควัสดุก่อสร้างจากกระเบื้องโอลิมปิคดูราเกรส แกรนด์โฮมมาร์ท แล้วชาวบ้านก็ร่วมกันสร้าง.. ผมคิดว่าโรงงานนี้คงไม่ถูกวางระเบิด เพราะถ้าโดนคนที่เจ็บปวดคงไม่ใช่แตงโม หรือดูราเกรส ฯลฯ แต่เป็นชาวบ้านด้วยกันเอง..." คุณอดิศร ให้ความเห็น

ปัจจุบันโรงงานเย็บผ้าสมานฉันท์บ้านบอเกาะ ยังทำหน้าที่ฝึกอบรมฝีมือให้เด็กๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านรวมถึงที่ใกล้เคียง มีคนภายนอกแวะมาเยี่ยมเยียนจำนวนมากทั้งคนที่มาดูงาน นักท่องเที่ยว นักข่าว จากหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง วันนี้ข้างโรงเรือนเย็บผ้าของผู้หญิงมีพ่อบ้านและเด็กๆ ไทยมุสลิม มีเพื่อนทหารไทยพุทธมารวมกันอยู่ตั้งแต่เย็นจน 2-3 ทุ่ม

หมู่ บ้านบอเกาะวันนี้มีสนามเด็กเล่น มีห้องเรียนเศรษฐกิจพอเพียง จากกิจกรรมที่คิดว่าจะเป็นรายได้เสริมก็เริ่มเป็นรายได้หลัก ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น และทุกๆ วันจันทร์ชาวบ้านบอเกาะทุกคนจะสวมเสื้อเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เสื้อแตงโมสมานฉันท์ทุกตัวจะบอกที่มาว่าเย็บโดยชาวบ้านบอเกาะ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส และที่สำคัญกว่านั้นคือได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่เย็บความรักสามัคคีของคนไทยเข้าด้วยกัน นักธุรกิจและทหารที่ริเริ่มโครงการเป็นไทยพุทธ ชาวบ้าน 140 ครัวเรือน 800 คนเป็นไทยมุสลิม และคำขวัญของโรงงานเย็บผ้าบอเกาะคือ "สมานฉันท์ คือ พลังสันติสุข"

"...ยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ ความเข้าใจที่ดีต่อกันนั้นมันมีค่ามหาศาล มากกว่าต้องทำกำไรอยู่ตลอดเวลา..." คุณอมรา กล่าวย้ำ

นี่คงเป็นบทสรุปของนักธุรกิจสยามแฮนด์ส ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมที่ตนดำรงอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น