วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ สัญลักษณ์แห่งความดี


พรประไพ เสือเขียว วันพุธ ที่ 23 มีนาคม 2554

“เมื่อรถแล่นไปถึงโรงพยาบาลผมก็พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึง คือแทนที่จะได้เห็นเธออุ้มลูกมาให้หมอตรวจ เธอกลับอุ้มลูกเดินออกจากโรงพยาบาลโดยไม่ยอมเข้ามาบริการ ผมจึงเดินไปตามว่ามาถึงโรงพยาบาลแล้วทำไมไม่พาลูกไปให้หมอตรวจ เธออ้ำอึ้งไม่ตอบอยู่พักใหญ่ สุดท้ายคนขับรถของผมซึ่งเป็นคนท้องถิ่นได้สอบถามแทน จึงได้ความว่าเธอมีเงินพกติดตัวมาเพียง ๓๐ บาท ตั้งใจจะนำเด็กไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงพยาบาลเท่าใดนัก ซึ่งโดยปกติเขาจะคิดค่ารักษาเพียง ๒๐ บาท อีก ๑๐ บาทที่เหลือจะเก็บไว้เป็นค่าโดยสารกลับบ้าน” เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือ “บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. เขียนไว้ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

ย้อนไปก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายประกันระบบสุขภาพถ้วนหน้า คนจนจำนวนหนึ่งไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะกลัวเงินค่ารักษาไม่พอ ขณะที่คนรวยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นต้องสิ้นเนื้อประดาตัว กับค่ารักษาพยาบาล ทั้งที่ตามสิทธิมนุษยชนแล้วผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม กัน ไม่สมควรถูกทิ้งขว้างเพราะไม่มีเงิน

นพ.สงวน คือบุคลากรที่มีคุโณปการอเนกอนันต์ต่อวงการสาธารณสุขไทย ในการวางรากฐานระบบบริการทางการแพทย์ของระบบประกันสังคม บุกเบิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือเมื่ออดีตคือโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ก่อนจะมาเป็นระบบบัตรทองในวันนี้ โดยถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หลังจากคุณหมอสงวนและทีมงานได้ทำวิจัยและทดลอง และเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศใช้เวลาร่วม ๑๐ ปีนับตั้งแต่ก่อนเริ่มบริการทางแพทย์ของประกันสังคมเรื่อยมา จนเมื่อนำเสนอสู่พรรคการเมืองในสมัยปี ๒๕๔๔ (พรรคไทยรักไทย) โดยใช้เวลาเพียง ๔๕ นาทีในการนำเสนอ จนท้ายที่สุดได้รับมีการออกกฎหมายรองรับ คือพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทย ๔๘ ล้านคน เริ่มเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ

แรกเริ่มของประกันสุขภาพ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอย่างจำกัด เพียงแค่ ๑,๒๐๒.๔๐ ต่อหัวต่อปี ยังไม่ได้หมายความว่า 30 บาทจะรักษาได้ทุกโรค แต่ตลอดระยะเวลาที่นพ.สงวนดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ได้ผลักดันให้ระบบ ประกันสุขภาพมีการรักษาโรคที่ครอบคลุม ทั้งโรคมะเร็ง โรคไตวายเรื้อรัง และการเข้าถึงยาต้านไวรัสของผู้ป่วยโรคเอดส์ และริเริ่มโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ จิตอาสา ให้คนไข้ที่หายป่วยแล้วให้กำลังใจเพื่อนมนุษย์ด้วย เช่นเครือข่ายโรคมะเร็ง เครือข่ายโรคหัวใจ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยให้ประชาชนไปใช้หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ หรือปฐมภูมิ

หลักการทำงานของหมอสงวน ยึดหลักส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งมักจะพูดเสมอว่าการทำงานยาก ๆ ให้สำเร็จนั้น ต้อง “กัดไม่ปล่อยอย่างอุเบกขา” จากประสบการณ์การทำงานแพทย์ชนบทใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ และเป็นบุคคลในเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ ช่วยหล่อหลอมให้คุณหมอเดินอยู่บนหลักความถูกต้องและความดีตลอดมา

สมัยที่เกิดโครงการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงแรกมีแรงเสียดทานจากวงการ สาธารณสุขจำนวนมาก เพราะโครงการบัตรประกันสุขภาพ มีงบประมาณก้อนโต กลายเป็นสายล่อฟ้าให้นักการเมืองและผู้บริหารฉ้อฉลกับเงินก้อนนี้ได้ คุณหมอรู้ถึงจุดนี้จึงผลักดันให้กระทรวงการคลังออกกฎระเบียบควบคุมการจ่าย เงินก้อนโต โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกเข้ามาดูแล ไม่ปล่อยให้เป็นสิทธิขาดของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทำให้ทุกวันนี้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านำหน้าด้านการบริหารจัดการทางการ แพทย์ จนส่งแรงกระเพื่อมไปถึงระบบประกันสังคมอยู่ในขณะนี้

คุณหมอสงวนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในวันที่ ๑๘ ม.ค. ๒๕๕๑ นั่นแสดงว่าระหว่างการทำงานเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการรักษาทางแพทย์กับ ร่างกายที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่คุณหมอกลับไม่ครั่นคร้ามและบอกว่า “มะเร็งคือพลังอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกทำสิ่งดี ๆ ให้เร็วขึ้นและมากขึ้น ผมอยากให้คุณมองมะเร็งว่าเป็นเงื่อนไขที่มีพลัง” ก่อนสิ้นลม คุณหมอสงวนได้เขียนด้วยลายมือตัวเองในขณะที่มีสติสัมปชัญญะก่อนเสียชีวิตว่า “ขออุทิศร่างกายของตนให้คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาของ นักศึกษาแพทย์”

ในวันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๔ ภารกิจร่างกายของนพ.สงวนในหน้าที่อาจารย์ใหญ่จะหมดลงตามระยะเวลา ซึ่งจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๒ เม.ย. ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี ...

ตลอดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่นพ.สงวนประกอบคุณงามความดีตลอดมาที่มนุษย์พึง กระทำได้ตามศักยภาพ และหน้าที่ของตน ผศ.ดร.พระมหาทวี มหาปญโญ (ละลง) ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า มนุษย์เกิดมามี ๒ อย่างคือ ดีกับชั่ว แต่คุณค่าของมนุษย์คือความดี การทำความดีหมายถึงการกระทำที่เป็นประโยชน์กับตนเองและกับสังคมถือเป็น หน้าที่ของมนุษย์ ตามหลักพุทธศาสนาการได้เกิดเป็นมนุษย์ถือว่าเป็น “มนุษย์สมบัติ”และยิ่งมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ มีจิตใจที่ดี ถือว่าเป็นเสถียรภาพที่สำคัญ

ซึ่งการทำความดีแบ่งออกเป็น ๓ ระดับได้แก่ ระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูงสุด ดังนั้นการให้คุณค่ากับการเป็นมนุษย์กับตัวเองคือ การรักษาศีล ๕ เหล่านี้คือความดีระดับต้น ส่วนระดับกลางคือการไม่ประพฤติผิดด้วยกาย วาจา ใจ คือกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ระดับสูงสุดคือ การดำเนินตามมรรค ๘ อาทิ สัมมาทิฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม

สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ มรรค ๘ คือ ความดีอย่างยิ่งยวด ศาสนาพุทธต่างจากศาสนาอื่นตรงเรื่องความดีระดับสูงคือมรรค ๘ นั่นเอง

“มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่ไม่สามารถบำเพ็ญความดีได้อยู่ด้วยสัญชาตญาณ มนุษย์เกิดมามีความดีกับความชั่วติดตามมาและมีศักยภาพในการพัฒนาตัวเองดู ตัวอย่างของพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาที่จะฝึกตัวเองให้มีปัญญารู้เท่าทัน ทุกสิ่ง คนเราทุกคนในสังคมทุกวันนี้ขอแค่มีความดีระดับต้นก็พอแล้ว มนุษย์จะประเสริฐกว่าถ้าสร้างคุณงามความดีเพียงวันเดียว ดีกว่าอายุยืน ๑๐๐ ปีแต่ไม่สร้างความดีไว้เลย” พระอาจารย์มหาทวีกล่าว พร้อมกับบอกว่า การทำดีของนพ.สงวนตั้งอยู่ในเจตนาดีตลอดมา แม้ก่อนตายยังได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่ออุทิศร่าง ทางพุทธศาสนาถือว่ามีเจตนาดีทั้งก่อนและหลังทำ บุญกุศลนี้จะส่งให้คุณหมอสู่สถานที่ดีในปรโลก.

Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=128302