วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“จิตสาธารณะ” ทุนของมนุษย์ในโลกยุคใหม่

มติชนรายวัน 22 ตุลาคม 2550

“บุคคลจะสามารถเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงาน และการดำเนินชีวิตในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ได้จะต้องมีจิตสาธารณะทั้ง 5 ประการ ประกอบรวมอยู่ในตัวของคนๆนั้น นอกจากนี้จิตสาธารณะทั้ง 5 ยังจะช่วยจรรโลงให้สังคมโลกในอนาคตเป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น”

ข้อความข้างต้นคือข้อสรุปจากหนังสือ Five minds for the Future ซึ่งเป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ Howard Gardner นักวิชาการด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เขียนเรื่อง Frame of Minds และ Changing Minds ที่เคยจุดประเด็น ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) จนโด่งดังไปทั่วทั้งวงการศึกษาที่มีแนวคิดแตกต่างออกไปว่า…

“ความฉลาดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวัดจากไอคิว ซึ่งเน้นแค่การคำนวณ ตรรกะและภาษาเพียงเท่านั้น แต่ความฉลาดนั้นมีด้วยกันหลายด้านและมนุษย์แต่ละคนนั้นก็มีความฉลาดเฉพาะตน ที่แตกต่างกันออกไป”

ในหนังสือเล่มล่าสุดของ Gardner ที่สำนักงาน ก.พ.กำลังเตรียมที่จะนำสาระมาถ่ายทอดเป็นหนังสือน่าอ่าน ได้ชี้ให้เห็นและเน้นความสำคัญของ “ความฉลาดหรือทักษะ” ซึ่ง Gardner ใช้แทนด้วยคำว่า “จิต” (Mind) ทั้ง 5 ประการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกๆด้านในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งจิตทั้ง 5 นั้นประกอบไปด้วย

1.จิตแห่งวิทยาการ (Disciplined Mind) หมายถึง “การเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดเป็น ทำเป็น” 2.จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) หมายถึง “การสั่งสม ต่อยอด และสร้างนวัตกรรมความรู้” 3.จิตแห่งการสร้างสรรค์ (Creating Mind) ที่เชื่อว่า “ความคิดสร้างสรรค์สร้างด้วยการหมั่นฝึกฝน” 4.จิตแห่งความเคารพ (Respectful Mind) หมายถึง “การเปิดใจกว้างพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น” และ 5.จิตแห่งคุณธรรม (Ethical Mind) อันสรุปได้ว่า “ความรู้คู่คุณธรรม นำการพัฒนา”

Gardner ยังได้เน้นว่า จิตทั้ง 5 นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อมนุษย์ในโลกยุคใหม่ และจะต้องมีครบทั้ง 5 จิต จะขาดจิตใดจิตหนึ่งไปเสียไม่ได้ เพราะจิตทั้ง 5 มีผลต่อการพัฒนาตัวบุคคลทั้งในแง่การทำงานและการดำเนินชีวิต ซึ่งจะส่งผลให้สังคมมีคนที่มีคุณภาพ โดยจะกลายเป็นพลังในการที่จะขับเคลื่อน องค์กร สังคม และประเทศชาติให้ก้าวไปสู่จุดมุ่งหมาย และยืนหยัดอยู่ภายใต้การแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์ สำนักงาน ก.พ. ได้อธิบายถึงความจำเป็นในการเร่งพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยว่า โลกในปัจจุบันได้เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่สังคมฐานความรู้ ซึ่งกุญแจแห่งความสำเร็จในสังคมฐานความรู้นั้นประกอบไปด้วย 1.รู้หรือไม่ว่าในโลกนี้มีอะไร (Knowing) 2.รู้แล้วนำมาคิดต่อยอดได้หรือไม่ (Thinking) 3.นำความคิดนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ (Serving) และ 4.นำความรู้ที่มีและได้มานั้นมาเป็นประสบการณ์ได้หรือไม่ (Experiencing)

ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้คือองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมฐานความรู้ แต่ในสังคมหลังฐานความรู้จะมีองค์ประกอบที่สำคัญอีก 4 ข้อเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกัน (Trusting) 2.ความใส่ใจต่อผู้อื่น (Caring) 3.การแบ่งบันกับผู้อื่น (Sharing) และ 4.ความร่วมมือร่วมใจ (Collaborating)

สรุปได้ว่าในโลกยุคสังคมหลังฐานความรู้จะเป็นการรวมกันขององค์ประกอบหลัก จากสังคมทั้งสองยุค แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของโลกว่ากำลังย้อนกลับไปสู่ค่านิยมในเรื่องของจิตใจ ที่ดีงามในยุคของสังคมเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ให้เกิดเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ซึ่งองค์ประกอบจากสังคมทั้ง 2 ยุคสอดคล้องกับกับแนวคิดเรื่อง “จิตทั้ง 5” ของ Gardner อย่างลงตัว และมีเป้าหมายเดียวกันกับนโยบายการบริหารประเทศ ใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ที่มุ่งเน้นในเรื่องของ “การเตรียมความพร้อมของคนไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเผชิญในอนาคต”

นั่นก็หมายถึงว่านอกจากเราจะสร้างความรู้ให้กับคนแล้ว ยังจะต้องสร้างและพัฒนา ความคิด ทัศนคติ มุมมองต่อโลกและสังคม ในแง่ของ “จิตใจ” ตามแนวทางการพัฒนา “ความรู้คู่คุณธรรม” ให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมและประเทศชาติ

“โลกในยุคสังคมหลังฐานความรู้จะมุ่งเน้นไปสู่เรื่องของการใส่ใจและการแบ่ง ปัน คือการที่คนเรามีค่านิยมในเรื่องของจิตสาธารณะก็จะทำให้คนเราเกิดความใส่ใจ และห่วงใยกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็นำเอาความรู้หรือข้อมูลต่างๆที่มีออกไปเผยแพร่และแบ่ง ปันกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือหัวใจหลักของการพัฒนาทุนมนุษย์” ดร.สุวิทย์ กล่าวสรุป

การเตรียมความพร้อมของคนไทย เพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้อง ปรับตัวและเตรียมพร้อมในเรื่องของกำลังคนให้มีคุณลักษณะและพฤติกรรมที่พึง ประสงค์ในอนาคตดังที่ Gardner ได้กล่าวไว้ใน Five Minds for the Future นั่นเอง

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

งานอาสาสมัคร โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ

ความเป็นมา

งานอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่องทางการ เห็นดำเนินมาพร้อมกับงานการศึกษาของผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น เมื่อปี พ.ศ. 2482 มิสเยเนวีฟ คอลฟิลด์ สุภาสตรีตาพิการ ชาวอเมริกัน จากประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านมาประเทศไทยด้วยกุศลเจตนาอย่างแน่วแน่ในการให้การศึกษาแก่คนตาบอด ด้วยไม่สนใจต่อคำพูดที่ว่าคนตาบอด น่าสงสาร ทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ ไม่มีประโยชน์ต่อใคร ท่านได้พิสูจน์แล้วว่าคนตาบอดมีความสามารถ จึงมุ่งมั่นที่จะให้การศึกษาคนตาบอดอย่างเต็มที่ ฝ่าฟันอุปสรรคหลายๆ อย่างเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย อย่างไรก็ดีในการทำงานของท่าน ยังมีผู้มีน้ำใจประเสริฐ มีเมตตากรุณาเข้าใจ และเล็งเห็นความสำคัญในการให้การศึกษาแก่คนตาบอด พร้อมที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวมาร่วมทำกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนๆ ของมิสคอลฟิลด์ งานอาสาสมัครจึงเริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการ จนท่านเหล่านั้นได้ช่วยกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ ได้สำเร็จ งานอาสาสมัครยังคงมีต่อมาเรื่อยๆ เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษา และงานช่วยเหลือคนตาบอดให้กว้างขึ้น

ในระยะเวลาที่ผ่านมางานอาสาสมัครยังไม่เป็นทางการ ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื้อเชิญระหว่างผู้ที่มาเป็นอาสาสมัครด้วยกัน คุณครูวิมล อ่องอัมพร และ Mr. Renn Fuller เป็นบุคคลที่มีความพยายามให้มีโครงการนี้เกิดขึ้น ปัจจุบันทางโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ได้จัดตั้งโครงการอาสาสมัครอย่างเป็นทางการ โดยมีคุณวรลักษณ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นประธานโครงการฯ นอกจากนั้นยังเริ่มมีการให้ความรู้เบื้องต้นแก่อาสาสมัครที่มาช่วยงานให้ เข้าใจผู้ที่บกพร่องทางการเห็นมากขึ้น นอกจากนั้นทางโครงการได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เบื้องต้นแก่อาสาสมัคร ที่มีความสนใจในการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นในส่วนของการ ศึกษาและด้านอื่นๆ มากขึ้น นับได้ว่าเป็นการเปิดโลกกว้างที่ไม่มีช่องว่างระหว่างคนปกติและผู้ที่ บกพร่องทางการเห็นที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ในปัจจุบันงานอาสาสมัครยังมีส่วนช่วยให้นักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นซึ่งออกไปเรียนร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนปกติด้วยการสอนเสริม ให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียน นอกจากนั้นยังมีสอนให้นักเรียนเข้าใจชีวิต การปรับตัวเอง ในการที่จะพัฒนานักเรียนที่บกพร่องทางการเห็นได้มีชีวิตอยู่ร่วมกับบุคคล อื่นในสังคมอย่างมีความสุข

ในการจัดการศึกษาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น เพื่อให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนรู้สามารถค้นหาจากห้องสมุดหรือได้รับการแนะนำจากผู้ที่ให้การสนับ สนุน งานอาสาสมัครจึงมุ่งเน้นในการนำผู้ที่สนับสนุนการศึกษาของเด็กที่มีความ บกพร่องทางการเห็นมาช่วยทำประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมมากที่สุด งานอาสาสมัครจะช่วยให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นได้เรียนรู้และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมปกติ และยังช่วยให้อาสาสมัครได้รู้วิธีการให้การช่วยเหลือบุคคลที่มีความบกพร่อง ทางการมองเห็นได้อย่างถูกต้อง

อาสาสมัครนับว่าเป็นบุคคลที่มีความเสียสละอุทิศเวลาและให้การสนับสนุนในด้านการศึกษาและอื่นๆ ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น การรวบรวมข้อมูล การเสนอแนะวิธีการ ที่จะช่วยงาน รวมทั้งขอบข่ายของงานอาสาสมัคร การติดตามการทำงานของอาสาสมัคร ตลอดจนการประกาศเกียรติคุณของอาสาสมัคร เพื่อให้อาสาสมัครมีกำลังใจที่จะช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นต่อไป

คุณสมบัติของอาสาสมัคร

1. ไม่จำกัดเพศ และอายุ
2. มีจิตใจช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการเห็น

ประเภทของอาสาสมัคร

1. บุคคลทั่วไป
2. นักเรียน นักศึกษา
3. อาสาสมัครที่ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

ลักษณะงานของอาสาสมัคร
1. อ่านหนังสือลงเทป (Talking Book)
2. การพิมพ์หนังสือลงแผ่นดิสก์เพื่อแปลเป็นอักษรเบรลล์และจัดทำหนังสือตัวโตสำหรับเด็กสายตาเลือนลาง
( Low Vision)
3. สนับสนุนในกิจกรรมของนักเรียนที่บกพร่องทางการเห็น ได้แก่
3.1 กิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก
* ดูแลเด็ก พาเด็กเดินเล่น
* อ่านนิทานให้เด็กฟัง
* สอนดนตรี
* ช่วยฝึกกิจกรรมส่วนตัว (การดำรงชีวิตประจำวัน)
* ช่วยแนะนำฟื้นฟูบุคลิกภาพของเด็ก
3.2 กิจกรรมสำหรับนักเรียนประถมปีที่ 1-6 (อายุ 8-15 ปี)
* กิจกรรมทางวิชาการ
* กิจกรรมทางภาษา
* กิจกรรมพิเศษ เช่น ดนตรี ว่ายน้ำ ศิลปะ และอื่นๆ
* กิจกรรมนอกสถานที่
3.3 กิจกรรมสำหรับนักเรียนร่วมชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
* ช่วยสอนการบ้านช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 15.30-19.00
* อ่านหนังสือให้เด็กฟังในวันหยุดราชการ
* กิจกรรมทางวิชาการ เช่น การสอนเสริมวิชาต่างๆ
* กิจกรรมทางภาษา
* กิจกรรมพิเศษ เช่น ดนตรี ว่ายน้ำ ศิลปะ
* กิจกรรมนอกสถานที่
* กิจกรรมพัฒนาทางสังคม และพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นต้น
* อื่นๆ

4. การจัดหาทุนสนับสนุนเพิ่มเติมในเรื่องการศึกษา อุปกรณ์ และความเป็นอยู่ของนักเรียน
5. กิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองให้ความรู้ในการดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็นที่บ้าน

Source:http://www.blind.or.th/school/volunteer.htm